เมนู

บทว่า สาธุ วต มายํ ความว่า ดีจริงหนอ (คหบดีหรือบุตร
แห่งคหบดี) นี้ เลี้ยงเราให้อิ่มหนำสำราญ. บทว่า คธิโต ความว่า ติดใจ
ด้วยความยินดีด้วยอำนาจตัณหา. บทว่า มุจฉิโต ได้แก่ สยบแล้วด้วย
ความสยบด้วยอำนาจแห่งตัณหานั้นเอง. บทว่า อชฺโฌปนฺโน ความว่า
กลืนลงไปให้เสร็จสิ้นด้วยอำนาจแห่งตัณหา. บทว่า อนิสฺสรณปญฺโญ
ความว่า ภิกษุผู้ละฉันทราคะแล้ว ฉันภัตโดยฉุดตนออกจากความติดในรส
จึงจะชื่อว่า ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ภิกษุนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เธอยังมี
ฉันทราคะอยู่ ฉันอาหาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนิสฺสรณปญฺโญ
(ผู้ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก). ธรรมฝ่ายขาวบัณฑิตพึงทราบ โดยผิดจาก
ปริยายดังกล่าวแล้ว. อนึ่ง ในพระสูตรนี้พึงทราบว่า พระองค์ตรัสเนกขัมม-
วิตกเป็นต้น คละกันไปฉะนี้แล.
จบอรรถกถากุสินารสูตรที่ 1

2. ภัณฑนสูตร



ว่าด้วยเหตุแห่งความบาดหมาง 3 อย่าง



[564] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในทิศใด เกิดแก่งแย่งทะเลาะ
วิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก แม้แต่นึกถึงทิศนั้นก็ไม่เป็นที่
ผาสุกแก่เรา ไม่ต้องกล่าวไปถึงการที่ภิกษุเป็นเช่นนั้น เราแน่ใจว่า
เธอเหล่านั้นละทิ้งธรรม 3 ประการ มัวประกอบธรรม 3 ประการ ละทิ้งธรรม
3 ประการคืออะไร คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก มัว-
ประกอบธรรม 3 ประการคืออะไร คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก
ภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุเกิดแก่งแย่งทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกัน

ด้วยหอกคือปาก แม้แต่นึกถึงทิศนั้นก็ไม่เป็นที่ผาสุกแก่เรา ไม่ต้องกล่าวไปถึง
ในการที่ภิกษุเป็นเช่นนั้น เราแน่ใจว่า เธอเหล่านั้นละทิ้งธรรม 3 ประการนี้
มัวประกอบธรรม 3 ประการนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน
ไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่านมประสม
กับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ (คือสายตาของคนที่รักใคร่กัน ) แม้เรา
ไปทางทิศนั้นก็เป็นที่ผาสุกแก่เรา ไม่ต้องกล่าวเพียงนึก ในการที่ภิกษุเป็น
เช่นนั้น เราแน่ใจว่าเธอเหล่านั้นละธรรม 3 ประการเสียได้ ประกอบธรรม
3 ประการอยู่มาก ละธรรม 3 ประการคืออะไร คือ กามวิตก พยาบาทวิตก
วิหิงสาวิตก ประกอบธรรม 3 ประการคืออะไร คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาท-
วิตก อวิหิงสาวิตก ภิกษุทั้งหลา ในทิศใด ภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นบาน
ต่อกัน ไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่า
นมประสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ แม้เราไปทางทิศนั้นก็เป็นที่
ผาสุกแก่เรา ไม่ต้องกล่าวเพียงนึก ในการที่ภิกษุเป็นเช่นนั้น เราแน่ใจว่า
เธอเหล่านั้นละธรรม 3 ประการนี้เสียได้ ประกอบธรรม 3 ประการนี้อยู่มาก.
จบภัณฑนสูตรที่ 2

อรรถกถาภัณฑนสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในภัณฑนสูตรที่ 2 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปชหึสุ แปลว่า ย่อมละได้. บทว่า พหุลมกํสุ ได้แก่
กระทำบ่อย ๆ. แม้ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิตก 3 แม้เหล่านี้
คละกันไป.
จบอรรถกถาภัณฑสูตรที่ 2